โปรโมชั่นสมาร์ทโฟน

LIV

STARTUP

Prison Inside Me เรือนจำแห่งอิสรภาพ

หากพูดถึงวิธีคลายเครียด คงมีไม่กี่คนที่คิดว่าการเอาตัวไป “เข้าคุก” คือวิธีปลดปล่อยอย่างหนึ่ง แต่มีคนที่เชื่อแบบนี้จริง ๆ ค่ะ และมีคนเอาตัวไป “เช็คอิน” เข้าเรือนจำของสตาร์ทอัพที่เราจะนำเสนอในวันนี้แล้วกว่า 2,000 คน

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพแห่งนี้มีชื่อว่า Noh Ji-Hyang แม่บ้านชาวเกาหลีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสามีที่บ่นกับเธอว่าหลังจากตรากตรำทำงานหนักอาทิตย์ละ 100 กว่าชั่วโมง หากได้ขังตัวอยู่ในห้องคนเดียวสักพักใหญ่ ๆ คงจะดีไม่น้อย จะได้มีเวลาให้ตัวเองได้พักกายพักใจ และเคลียร์เอาปัญหาหมักหมมที่รกหัวรกใจออกไปบ้าง เธอเลยได้ไอเดียเปิดโรงแรมสุดแสนพิเศษสำหรับคนที่ต้องการความสันโดษขึ้นมา โดยให้ชื่อว่า Prison Inside Me

ตั้งชื่อซะขนาดนี้ แน่นอนว่าทีเด็ดก็คือการจำลองหน้าตาสถานที่ให้เหมือน “คุก” ในเกาหลีทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่ตัวตึกทรงสี่เหลี่ยมเรียบกริบ ภายในแบ่งซอยออกเป็นห้องเล็ก ๆ หน้าตาเหมือนห้องขังในคุกจริง ๆ จะเรียกว่าเป็นสไตล์ Minimalist ขั้นสุดก็คงจะได้ เพราะห้องขนาด 54 ตารางฟุตนี้ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรเลย นอกจากหน้าต่างเล็ก ๆ ไว้พอให้ส่องดูวิวภายนอก ประตูก็ปิดทึบ มีเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ไว้ด้านล่างให้คนยื่นส่งอาหารให้เท่านั้น

เมื่อเช็คอินแล้ว แขกจะได้ชุดยูนิฟอร์มสีน้ำเงิน 1 ชุด ชุดชงชา 1 ชุด เสื่อโยคะบาง ๆ อีก 1 ผืนไว้ปูนอน ภายในห้องจะมีห้องน้ำเล็ก ๆ (ไม่มีกระจก) ไว้ให้ทำธุระส่วนตัว

กฎเหล็กคือ “ห้ามนำมือถือและนาฬิกาเข้าที่พัก” หากนำติดตัวมาก็ต้องฝากไว้ที่พนักงานก่อน นอกจากนี้ ยังห้ามพูด คุย เล่นหัวกับแขกคนอื่นตลอดเวลาคุมขัง เอ้ย! ตลอดเวลาที่เข้าพัก ซึ่งจำกัดไว้ที่ครั้งละไม่เกิน 48 ชั่วโมง (คงกลัวว่านานกว่านี้สติจะหลุดกว่าเดิม)

แขกส่วนมากใช้เวลาไปกับการนั่งสมาธิ หรือไม่ก็เขียนจดหมาย บางคนก็นอน สิ่งสำคัญคือ การได้อยู่กับตัวเองด้วยหวังว่าจะค้นหาความสุขที่แท้จริงในใจตน

หลังจากได้รับข้าวของเครื่องใช้แล้ว แขกจะได้รับอนุญาตให้เดินเล่นเงียบ ๆ บริเวณสวน พอถึงเวลาเข้าห้องขัง (ห้องพัก) จะมีคนพานั่งสมาธิหนึ่งรอบ หลังจากนั้นก็แยกย้ายเข้าห้องใครห้องมัน

พอถึงเวลากิน จะมีคนเอาอาหารใส่ถาดมาส่งให้ผ่านช่องเล็ก ๆ ตรงประตู เมนูก็แสนจะเรียบง่าย เข่น มันหวานนึ่ง นมกล้วยปั่น เป็นต้น เมื่อกินเสร็จก็ยื่นถาดผ่านช่องประตูไปวางไว้หน้าห้อง อีกเดี๋ยวจะมีคนมาเก็บให้

แขกส่วนมากใช้เวลาไปกับการนั่งสมาธิ หรือไม่ก็เขียนจดหมาย บางคนก็นอน สิ่งสำคัญคือ การได้อยู่กับตัวเองด้วยหวังว่าจะค้นหาความสุขที่แท้จริงในใจตน

สังคมเกาหลีนั้นจัดเป็นสังคมที่มีความเครียดสูงมาก จากประเทศยากจนด้อยพัฒนาแห่งหนึ่ง เกาหลีใช้เวลาแค่ 60 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลักดันตัวเองจนมีเศรษฐกิจแข็งแก่งเป็นอันดับที่ 14 ของโลก แต่ความสำเร็จนี้ก็มาพร้อมกับความเครียดที่เกิดจากการเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนักตั้งแต่เด็กยันแก่เพื่อเอาตัวรอดในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

ปัจจุบันเกาหลีมีอัตราการฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากความเครียดสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) นำหน้าญี่ปุ่นไปด้วยสถิติการฆ่าตัวตายถึงวันละ 40 คน และเป็นประเทศที่มีเด็กและเยาวชนวัย 10-19 ปี ฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก

จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ากว่า 90% ของคนที่ฆ่าตัวตายมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล อันเกิดจากความเครียด โดยกลุ่มเสี่ยงหลักประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน กับกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)

เด็กนักเรียนในเกาหลีเรียนหนักมากถึงปีละ 11 เดือน วันละ 16 ชั่วโมง นี่ยังไม่รวมเรียนพิเศษอีกวันละหลายชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไม่กี่แห่ง

ส่วนผู้สูงอายุก็เครียดจากความยากจนและการล่มสลายของระบบครอบครัวอุปถัมภ์แบบดั้งเดิม เกาหลีเพิ่งมีระบบบำนาญหลังเกษียณเมื่อปี 1988 ทำให้คนแก่ในปัจจุบันเกินกว่าครึ่งยังประสบปัญหาความยากจน แถมลูกหลานก็ไปทำงานในเมือง เงินทองไม่ค่อยส่งมาเลี้ยงดู ทำให้ผู้สูงอายุต้องกระเสือกกระสนสู้ชีวิตตามลำพัง

สำหรับคนวัยทำงานก็เครียดหนักไม่แพ้กัน จากการสำรวจของ OECD ในปี 2017 พบว่าคนเกาหลีเฉลี่ยแล้วทำงานปีละ 2,024 ชั่วโมง มากกว่าคนอเมริกันถึง 244 ชั่วโมง

ดังนั้นคนเกาหลีทุกเพศ ทุกวัย จึงเสาะหาหนทางระบายความเครียด บ้างก็หันไปดื่มเหล้า (เกาหลีมีการบริโภคแอลกอฮอล์สูงที่สุดในโลก เฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่เกาหลีหนึ่งคนกรึ๊บเหล้ากันอาทิตย์ละ 14 ช็อต) บ้างก็หันไปทำกิจกรรมบันเทิงอึกทึกครึกโครมต่าง ๆ

แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่คิดว่าการปลีกวิเวิกคือหนทางเยียวยาร่างกายและจิตใจที่แท้จริง ทำให้บริการอย่าง Prison Inside Me เป็นที่นิยมไม่น้อย

ตั้งแต่เปิดตัวในปี 2013 ก็มีลูกค้าเข้ารับการ “คุมขัง” แล้วกว่า 2,000 คน มีทั้งเด็กนักเรียนและกลุ่มหนุ่มสาววัยทำงานที่อยากตัดขาดจากโลกภายนอกสัก 1- 2 วัน หลายคนบอกว่าการได้ unplug จากโลกอินเทอร์เน็ตทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้พักผ่อนและเป็น “อิสระ” อย่างแท้จริง

ก่อนจะกลับคืนสู่โลกแห่งความวุ่นวายอีกครั้ง แขกจะได้รับประกาศนียบัตรไปคนละใบเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจว่า หากวันใดที่รู้สึกว่าโซ่ตรวนพันธนาการจากโลกภายนอกมันหนักหนาสาหัสนัก “เรือนจำ” แห่งนี้ก็พร้อมเปิดประตูต้อนรับพวกเขากลับมาเสมอ

อ่านมาถึงตรงนี้ใครรู้สึกว่าชีวิตมันเครียดเหลือเกิน ลองหาเวลา unplug บ้างก็ดีนะคะ ส่วนใครที่ไฟยังแรงมีไอเดียธุรกิจพรั่งพรูไม่ซ้ำใครแบบนี้และอยากต่อยอดให้เป็นรูปเป็นร่าง ลองติดตามการเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการ dtac accelerate ครอบครัวสตาร์ทอัพที่สตรองที่สุดในประเทศไทยในครั้งต่อไปได้ที่นี่เลยค่ะ

เครดิตภาพ: Reuters

บทความนี้ดัดแปลงจากต้นฉบับของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “สตาร์ทอัพ ปัญหาทำเงิน” ของ นสพ. ประชาชาติธุรกิจ